วันพุธที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2552

วิเคราะห์หลักทรัพย์ด้วยตนเอง ตอนที่ 6 : ลดเวลาค้นหาหุ้น...ต้องตามลุ้นความเห็นของนักวิเคราะห์

รายงานโดย : กฤษฏา เสกตระกูล        วันอังคารที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2552

การเคลื่อนไหวราคาหลักทรัพย์ขึ้นลงไปมาในแต่ละวัน สะท้อนถึงความคาดหวังของตลาด (หรือของนักลงทุน) เกี่ยวกับอนาคตของบริษัทจดทะเบียนของหลักทรัพย์นั้น

เช่น อนาคตเกี่ยวกับการเติบโตของกำไร (Earning Growth) ซึ่งจะไปมีผลอย่างมากต่อราคาหลักทรัพย์ นักลงทุนสามารถทำกำไรได้ถ้าคาดการณ์เกี่ยวกับอนาคตของบริษัทเป็นไปนเชิงบวก และอาจขาดทุนได้ถ้าอนาคตของกิจการไม่สดใสอย่างที่คาดเอาไว้

ประสบการณ์ที่เกิดจริงในสหรัฐอเมริกา ก็คือ มีนักวิเคราะห์หลักทรัพย์จำนวนมาก ถูกไล่ออกจากงาน เนื่องจากแนะนำให้ลูกค้าเข้าซื้อหลักทรัพย์ในกลุ่มเทคโนโลยีซึ่งมีราคาแพงเกินไป โดยเฉพาะในช่วงที่อุตสาหกรรมกลุ่มนี้รุ่งเรืองถึงขีดสุดในช่วงปีค.ศ. 2000 ต่อเนื่องถึงปีค.ศ. 2001 ตัวอย่างที่เด่นชัด ก็คือ การกระตุ้นให้ซื้อหุ้นของบริษัท เอนรอน ก่อนที่จะถูกประกาศให้ล้มละลาย ต่อมาในปีค.ศ. 2002 หน่วยงานของรัฐในสหรัฐอเมริกาได้เปิดเผยผลการสอบสวนที่พบว่า นักวิเคราะห์หลักทรัพย์บางคนได้ให้คำแนะนำแก่นักลงทุนซื้อหุ้นทั้งที่รู้ว่าจะเกิดความเสียหายขึ้น

ทั้งที่เกิดความอื้อฉาวต่อชื่อเสียงของ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์มาหลายครั้ง แต่รายงานการพยากรณ์กำไร (Earning Forecast) และรายงานการให้คำแนะนำในการลงทุน (Buy/Sell Ratings) ก็ยังคงเป็นที่นิยมและเป็นเครื่องมือที่ดีในการคาดการณ์อนาคตของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เพราะเราสามารถ ค้นหาข้อมูลสำคัญซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจลงทุน ซึ่งช่วยเราประหยัดเวลาไปได้มากในการวิเคราะห์เจาะลึกว่า หุ้นตัวนั้นดีหรือไม่ดีอย่างไร

6.1 บทบาทของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์
บริษัทหลักทรัพย์จะว่าจ้างนักวิเคราะห์หลักทรัพย์เพื่อวิเคราะห์หลักทรัพย์ในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ จะเขียนรายงานวิเคราะห์อุตสาหกรรมที่ได้รับมอบหมาย รวมทั้งบริษัทจดทะเบียนซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมเหล่านั้นด้วย ในการวิเคราะห์บริษัทจดทะเบียน นักวิเคราะห์จะมีการพยากรณ์ยอดขายและกำไรของบริษัท จดทะเบียน รวมทั้งให้ความเห็นว่าควรจะซื้อ (Buy) ถือไว้ต่อไป (Hold) หรือขาย (Sell) และระบุราคาเป้าหมาย (Target Price) ที่จะเกิดขึ้นกับหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนนั้น นักวิเคราะห์จะต้องปรับปรุง (Update) ข้อมูลการวิเคราะห์หลักทรัพย์อย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์นั้นอาจมีการเปลี่ยนแปลงไป

การจัดทำรายงานของนักวิเคราะห์ ก็เพื่อให้คำแนะนำแก่ลูกค้าว่าควรจะซื้อหรือขายหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียน แต่กว่าจะได้ข้อสรุปนี้มาไม่ใช่เป็นงานง่ายๆ นอกจากนี้ นักวิเคราะห์จะต้องพัฒนาวิธีการในการจัดลำดับ (Rating) หลักทรัพย์ เพื่อคัดกรองว่าหลักทรัพย์ใดควรถูกซื้อหรือขาย และแต่ละบริษัทอาจมีเทคนิคที่ต่างกันไป เช่น Goldman Sachs ใช้วิธีวิเคราะห์หลักทรัพย์ตาม ปกติแล้วถ้าคิดว่าในระยะเวลาอีกไม่นานหลักทรัพย์นั้นจะมีราคาสูงขึ้น ก็จะนำรายชื่อเข้ามาอยู่ใน Recommendation List ขณะที่ Merrill Lynch ใช้วิธีให้สัญลักษณ์ไว้ที่หุ้นที่กำลังจะมีราคาสูงขึ้น และ Prudential Securities จะระบุไว้กับหลักทรัพย์ที่กำลัง จะขึ้นว่า Strong Buy เป็นต้น นักลงทุน จึงต้องปรึกษากับบริษัทหลักทรัพย์เพื่อทำความเข้าใจกับวิธี Rating และความหมายของแต่ละบริษัท

6.2 รู้จัก Consensus Ratings
การรวบรวมผลการจัดลำดับหลักทรัพย์ของนักวิเคราะห์จากหลายๆ บริษัทหลักทรัพย์ เรียกว่าเป็นการจัดทำ Consensus Ratings ซึ่งอาจสรุปได้ว่าความเห็นของนักวิเคราะห์จะเป็นไปในลักษณะใดลักษณะหนึ่งใน 5 ประการ ดังแสดงในตารางที่ 6.1 ต่อไปนี้

เราสามารถติดตามผลการให้ความเห็นในหลักทรัพย์ตัวใดตัวหนึ่ง เนื่องจากนักวิเคราะห์หลายๆ คนได้ เช่น ถ้ามีนักวิเคราะห์ 3 ราย ให้คำแนะนำว่า Strong Buy ในหลักทรัพย์หนึ่ง ค่าที่ได้รวมกันจะเท่ากับ 3 และค่าเฉลี่ยจะเท่ากับ 1 แต่ถ้ามีนักวิเคราะห์ 1 ราย ให้ Strong Buy (ค่าจะได้ 1) 1 ราย บอกว่า Hold (ค่าจะได้ 3) ค่าเฉลี่ยจากนักวิเคราะห์ 2 ราย เท่ากับ 2 (4 หารด้วย 2) ซึ่งค่าจะตกอยู่ใน ระดับ Buy ค่าเฉลี่ยที่หามาได้นี้เรียกว่า Consensus ถ้าค่า Consensus เท่ากับ 2.7 เช่น อาจมาจาก 16/6 ซึ่งมีรายละเอียดคือ นักวิเคราะห์ 3 ราย บอกว่า Hold (ได้ 9 คะแนน) 2 ราย บอกว่า Strong Buy (ได้ 2 คะแนน) และ 1 ราย บอกว่า Strong Sell (ได้ 5 คะแนน) ค่า Consensus 2.7 นี้จะตกอยู่ในระดับใกล้กับ Hold ซึ่งหมายถึงให้คงสถานะเดิม ไม่ซื้อเพิ่มหรือไม่ขายและให้ถือต่อไป

การรวบรวมและคำนวณค่า Consensus ช่วยให้นักลงทุนได้เห็นว่า แนวโน้มโดยเฉลี่ยของนักวิเคราะห์คิดอย่างไรกับหลักทรัพย์นั้น ตัวอย่างเช่น ในเดือนที่แล้วค่า Consensus ของหลักทรัพย์หนึ่งเท่ากับ 2.2 ซึ่งตรงกับระดับ Weak Buy เมื่อมาถึงในเดือนนี้ค่า Consensus เท่ากับ 1.2 แสดงว่าเป็นการยืนยันมากขึ้นว่าให้ซื้อได้ เพราะค่าเฉลี่ยเข้าใกล้ Strong Buy

เนื่องจากค่า Consensus อาจมีค่าเป็น จุดทศนิยม เมื่อเทียบกับค่าคะแนนที่ตั้งเอาไว้ตามตารางที่ 6.1 ทำให้เปรียบเทียบได้ยาก เราอาจกำหนดช่วงค่าคะแนนใหม่เพื่อช่วยตัดสินใจได้ดังต่อไปนี้

- ค่า Consensus ระหว่าง 1.0-1.5 = Strong Buy

- ค่า Consensus ระหว่าง 1.6-2.4 = Buy
- ค่า Consensus ระหว่าง 2.5-3.5 = Hold
- ค่า Consensus ระหว่าง 3.6-5.0 = Sell

ในการหาค่าเฉลี่ยของความเห็นเพื่อคำนวณค่า Consensus นั้น เราควรใช้จำนวนนักวิเคราะห์เท่าใดจึงจะพอ บ้างก็ว่าควรใช้จำนวนนักวิเคราะห์ระหว่าง 20-35 คน บางธุรกิจหลักทรัพย์ก็ใช้จำนวนนักวิเคราะห์ 7-15 คน ซึ่งไม่ได้มีกฎเกณฑ์ตายตัว แต่ก็ ไม่ควรมีน้อยเกินไป เพื่อให้เวลาคำนวณจะมีค่าเฉลี่ยที่ไม่เกิดอคติได้ง่าย



ที่มา : http://www.posttoday.com/stockmarket.php?id=81779

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ข้อคิดเห็นสำหรับเรื่องนี้